รางจืด สมุนไพรช่วยชีวิต

0
370

 รางจืด สมุนไพรช่วยชีวิต 

หากพูดถึง อาหารการกิน หรือ การใช้ชีวิตในแต่ละวัน ในยุคปัจจุบันนี้  ต้องยอมรับกันว่า ทุก ๆ ก้าว มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการได้รับสารพิษ ที่เข้าสู่ร่างกายได้เกือบทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นการ รับประทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือ อาหารที่มีสารพิษ โดยที่ไม่รู้ตัว หรือการรับประทานอาหารเสริมที่ขายเกลื่อนกลาด ในท้องตลาดที่ไม่ได้มาตรฐานการผลิต อย่างเช่นที่ออกข่าวมาแล้วมากมาย บางรายถึงกับเสียชีวิตกันเลยทีเดียว

อีกหลายอาชีพ ที่มีความเสี่ยงที่ ร่างกายต้องสัมผัสกับสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น เกษตรกร พนักงานโรงงาน เป็นต้น ความไม่คาดหวังก็อาจจะเกิดกับคนใกล้ตัว หรือ เราๆ ก็เป็นได้ ดังนั้น ผู้เขียน อยากจะพาทุกท่าน ไปหาสมุนไพรใกล้ตัวมาเก็บไว้ เผื่อจะได้เอาไว้ใช้ ยามฉุกเฉิน และจะได้หยิบมาใช้ได้ทันที ที่ประสพเหตุ

          สมุนไพรที่ ผู้เขียน อยากแนะนำ คือ รางจืด  หลาย ๆ ท่านอาจเคยได้ยินกิตติศัพท์ ของสมุนไพรตัวนี้ มาบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย ใช่มั้ยคะ แต่วันนี้ อยากจะมาเน้นย้ำกันอีกที เผื่อใครบางคน มองข้ามสมุนไพรตัวนี้ ค่ะ

    มาดูกันว่า สมุนไพรรางจืด ตัวนี้ มีประโยชน์อย่างไร 

รากและใบของรางจืดนั้น สามารถรับประทานเพื่อเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ อีกทั้งยังใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ ยาพอกบาดแผล ใช้สำหรับถอนพิษยาฆ่าแมลงได้  สำหรับผู้ป่วยที่ดื่มยาฆ่าแมลงเข้าไปเป็นการบรรเทาอาการก่อนถึงโรงพยาบาล แก้พิษแอลกอฮอล์ บรรเทาอาการเมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้

ลำต้น คนโบราณจะตัดลำต้นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อพกติดตัวในยามที่จะเข้าป่าเพื่อหาอาหาร โดยมีความเชื่อว่าสามารถป้องกัน งู เงี้ยว เขี้ยว ขอ ได้ 

 เรื่องเล่าจากผู้เขียน 

ผู้เขียน  มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เลยค่ะ คือก่อนหน้านี้ ประมาณ3 เดือนที่แล้ว คุณแม่ของผู้เขียน ได้ รับประทานยา ในกลุ่มของยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และเป็นยาที่ใช้บ่อยตัวหนึ่งในบ้านเรา แต่คุณแม่ ได้เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง จนมีอาการ คลื่นใส้อาเจียนพร้อมกับถ่าย และมีอาการบวมที่ปาก มือเท้าสั่น และมีอาการเหมือนจะวูบ ทันใดนั้น คุณพ่อที่มีอายุมากแล้ว จึงได้โทรมาบอก ให้ผู้เขียน รีบพาไปพบแพทย์ แต่ด้วยความที่ผู้เขียน  กำลังเดินทางอยู่ข้างนอกบ้าน ทำให้ไม่สามารถจะนำคุณแม่ ไปโรงพยาบาลได้ทันที จึงทำให้เกิดการล่าช้า ในการส่งตัว

          เคราะห์ดีของคุณแม่ ที่คุณแม่เป็นผู้ที่ชื่นชอบและศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรหลากหลายชนิด ทำให้คุณแม่มีสติ และรีบไปเปิดกระเป๋าที่คุณแม่ชอบพกพาไปในที่ต่าง ๆ  คุณแม่รีบหยิบต้น รางจืด ที่คุณแม่ได้ตัดเอาไว้ เป็นท่อนเล็ก ๆ ที่อยู่ในกระเป๋า และรีบเคี้ยวต้น รางจืดนั้นในทันที หลังจากที่คุณแม่ได้เคี้ยวต้นรางจืด ทำให้คุณแม่มีอาการที่พอทุเลาลงมาบ้าง และพร้อมกับที่ผู้เขียน ได้มาถึงบ้านพอดี จึงรีบนำตัวคุณแม่ส่งโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาล เพทย์ก็ได้ทำการรักษาตามขั้นตอน หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ก็ได้มีโอกาส พูดคุยกับคุณหมอ ก็เลยทราบว่า ถ้าไม่ได้สมุนไพร รางจืด คุณแม่ก็อาจจะมาพบแพทย์ไม่ทันได้และอาจเกิดเรื่องเศร้าในครอบครัวได้

          เห็นมั้ยคะว่า ประโยชน์ ดี ๆ จากสมุนไพรไทย น่าชื่นชมมากแค่ใหน ของไทยมีดี หลายอย่าง อย่าดูถูกและมองข้าม ความเป็นไทยนะคะ (รักและสนับสนุนของไทย)

facebook fanpage Golden Horse

ชื่อวิทยาศาสตร์  Thumbergia laurifolia Lindl

วงศ์  Acanthaceae

ชื่อสามัญ  Laurel clockvine, blue trumphet vine

ชื่ออื่นๆ รางจืดมีมากมาย เช่น รางจืด รางเอางย็น ว่านรางจืด เถา ยาเขียว เครือเถาเขียว กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง (ภาคกลาง) ย้ำแย้ (อุตรดิตถ์)  ฮางจืด ฮางเย็น เครือเข้าเย็น หนามแน่ (ภาคเหนือ) คาย (ยะลา) และดุเหว่า (ปัตตานี) เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thumbergia laurifolia Lindl.

ลักษณะพิช รางจืดเป็นไม้เถาสามารถเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพาดพันขึ้นคลุมต้นไม้ใหญ่ๆ ได้ทั้งต้น เถามีลักษณะกลม สีเขียว เมื่อเถาแก่เป็นสีน้ำตาลมากขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้มออกเป็นคู่ตรงข้ามตรงข้อของลำต้น ใบมีลักษณะคล้ายใบย่านางรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง ๔-๗ เซนติเมตร (ซม.) ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้าหรือหยักรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักตื้น เส้นใบมี ๕ เส้น ออกฐานใบเดียวกัน

ดอกช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ ๓-๔  ดอก กลีบดอกแผ่ออกเป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น ๕ แฉก โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวราว ๑ เซนติเมตร มักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ในหลอด สีม่วงแกมน้ำเงิน ผลเป็นผลแห้งแล้วแตก ๒ ซึก จากจะงอยส่วนบน มักมีดอกในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-กุมพาพันธ์) ดอกที่โรยแล้วบางดอกอาจติดผล เมื่อแก่เปลือก ผลเป็นสีน้ำตาล แตกออกเป็น ๒ ซึก เมล็ดมีสีน้ำตาลมีปุ่มเล็กๆ คล้ายหนามอยู่บนเปลือกเมล็ด และสามารถนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่การขยายพันธุ์รางจืดส่วนใหญ่นิยมนำเถาแก่หรือใบมาปักชำมากกว่า

รางจืด… กับมะเร็ง
รางจืดยังมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ กล่าวคือสารใดๆ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์มีศักยภาพสูงสามารถก่อมะเร็งได้ แต่รางจืดมีฤทธิ์ต้านไม่ให้สารนั้นออกฤทธิ์ มีการศึกษาโดยให้หนูกินสารสกัดของกวาวเครือซึ่งกวาวเครือจะไปมีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวและการสร้างนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดง กล่าวคือนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดงจะเป็นก้อน ใหญ่ขึ้น และมีการแบ่งตัว นั่นคือกวาวเครือไปทำให้การเกิด micronuclei ของเม็ดเลือดแดงเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าให้สัตว์ทดลองกินรางจืดร่วมด้วย พบว่าสามารถลดการเกิด micronuclei ได้ ซึ่งทั้งรางจืดแบบสดและแบบแห้งสามารถใช้ได้ผลเช่นกัน นับเป็นข้อดีอีกข้อหนึ่งของรางจืด

โดยพบว่าสารออกฤทธิ์อาจเป็นกรดฟีนอลิก ได้แก่ caffeic acid และ apigenin และสารกลุ่มคลอโรฟิลล์ ได้แก่ chlorophyll a, chlorophyll b, pheophorbide a และ pheophytin a ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก

อย่างไรก็ตาม การกินรางจืดปริมาณมากต่อเนื่องกัน มีคำเตือนว่าต้องมีการศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงโลหิตวิทยาหรือเคมีคลินิกที่อาจเกิดขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สารานุกรมเสรี

Comments

comments